=

ศาลาทศชาติ (100)

Share

Copied
  • ข้อมูล
สังคมไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาลงมา นิยมเล่าเรื่อง ทศชาติ อันเป็นชาดกสิบพระชาติหลังของพระโพธิสัตว์ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระสมณโคดมพุทธเจ้า เพราะแต่ละพระชาติดังกล่าวนี้ ล้วนแสดงคุณธรรมที่สำคัญของมนุษย์ในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในชุมชนและสังคม โดยเฉพาะพระชาติสุดท้ายที่เรียกว่า มหาชาติ นั้น เป็นเรื่องราวที่เน้น ทานบารมี ที่สอนให้คนที่อยู่ร่วมกันในชุมชนมีจิตใจที่เสียสละ และเอื้ออาทร ต่อกัน รวมทั้งแสดงให้เห็นภาพพจน์ของผู้นำสังคมคือ พระมหากษัตริย์ ว่าเป็นพระสมมติเทพที่เปี่ยมไปด้วยการให้ทานและการเสียสละ เฉกเช่น พระเวสสันดร

การเขียนภาพทศชาติ นับว่าเป็นวิธีการอบรมผู้คนในสังคมให้รู้จักคุณธรรมของการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด นับเป็นการใช้ศิลปกรรมเพื่อโน้มน้าวและขัดเกลาจิตใจของผู้คนทั่วไปทุกกลุ่มเหล่าได้อย่างแนบเนียนและแยบยล เป็นภูมิปัญญาของคนในอดีตโดยแท้ เพราะภาพเขียนชาดกดังกล่าวนี้จะปรากฏอยู่ตามสถานที่ซึ่งเป็นที่ส่วนรวมของคนในสังคม เช่น ตามผนังโบสถ์ วิหาร และคอสองของศาลาการเปรียญ ศาลาท่าน้ำ หรือศาลาพักร้อนในที่ต่างๆ

ศาลาพักร้อนกลางน้ำนี้เรียกว่า ศาลาทศชาติ เป็นตัวอย่างของการสร้างศาลาแต่โบราณที่สร้างให้เห็นศิลปกรรมและมีภาพเขียนทศชาติ เพื่อเพิ่มการอบรมคุณธรรมทางศาสนาและสังคมให้แก่คนทั่วไป

สถานที่ตั้ง ศาลาทศชาติ (100)

สถาปัตยกรรมใกล้เคียง